การกั้นประตูเงินประตูทอง

14 DEC 2016


"การกั้นประตูเงินประตูทอง" ถือเป็นส่วนหนึ่งในพิธียกขบวนขันหมาก เป็นพิธีที่สนุกสนาน และสร้างความรู้จัก คุ้นเคยของทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนใหญ่นิยมกันแค่ 3 ประตู คือ ประตูชัย (ประตูนาก) ประตูเงิน ประตูทอง

โดยที่ฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นฝ่ายยืนรอต้อนรับขบวนขันหมากของฝ่ายเจ้าบ่าวที่รั้วบ้าน โดยด่านแรกนี้ ฝ่ายเจ้าสาวจะถือชายผ้ากั้นไว้คนละข้าง เรียกว่า ปิดประตูขันหมาก
เมื่อมาถึงเฒ่าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะถามว่า : "ประตูนี้ชื่อว่าอะไร"
ผู้กั้นตอบว่า : "ประตูชัย"
เฒ่าแก่ก็จะให้ซองเงิน หรือของชำร่วยแก่ผู้กั้นเพื่อขอผ่าน ของชำร่วยหรือซองเงินนี้จะมีค่างวดน้อยกว่าอีก 2 ประตู เรียกว่า ของแถมพกอย่างตรี

ประตูที่ 2 คือ ประตูเงิน ซึ่งจะอยู่บริเวณบันไดบ้าน ประตูนี้จะใช้ผ้าแพรหรือผ้าชนิดดีกว่าที่ใช้กั้นประตูชัย (ผู้กั้นประตูนี้ส่วนใหญ่เป็นญาติสนิท)
เฒ่าแก่จะถามว่า : "ประตูชั้น 2 นี้มีชื่อว่าประการใด"
ผู้กั้นตอบว่า: "ประตูเงิน"
เฒ่าแก่จึงมอบซอง หรือของแถมพกอย่างโท ให้เพื่อขอผ่านทาง
และก่อนขึ้นบ้าน น้องของเจ้าสาวจะทำหน้าที่ล้างเท้าให้เจ้าบ่าว ซึ่งจะทำพอเป็นพิธี และเจ้าบ่าวต้องให้ซองเงินเป็นรางวัล

มาถึงประตูสุดท้าย ผู้กั้นส่วนใหญ่จะเป็นพี่น้องของเจ้าสาว ซึ่งจะใช้ผ้าแพรอย่างดีหรือสร้อยทองกั้น
เฒ่าแก่จะถามว่า : "ประตูนี้มีชื่อว่าอะไร"
ผู้กั้นตอบว่า: "ประตูทอง"
เฒ่าแก่จึงยื่นซอง หรือของแถมพกอย่างเอก ให้เพื่อขอผ่านทาง ซึ่งซองนี้จะมีราคาค่างวดสูงที่สุด
จากนั้นเฒ่าแก่และเจ้าบ่าวพร้อมขบวนขันหมาก จะเข้าไปในบ้านเพื่อทำพิธีอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน "การกั้นประตูเงินประตูทอง" ได้ปรับเปลี่ยนให้เข้าสมัยมากขึ้น โดยสามารถใช้สายดอกไม้สด ดอกไม้ประดิษฐ์แทนได้ และอาจมีมากกว่า 3 ประตู เพื่อเพิ่มความสนุกสนาน และสร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้มให้กับงาน 

(แหล่งที่มา: thaitopwedding.com ,หนังสือ ประเพณี พิธีมงคล วันสำคํญของไทย ของ คุณกิติ ธนิกุล)